ประวัติ ของ จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ

วัยเด็ก และก่อนเข้าวงการเพลง

จักรพันธ์ อาบครบุรีธีรโชติ บ้านเกิดที่ บ้านไทรโยง ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกคนที่ 3 จาก 4 คน มีมารดา พื้นเพเป็นชาวอำเภอครบุรี และบิดาเป็นชาวอเมริกัน บุตรหนุ่มชื่อ น้องโอเค ชื่อจริง ด.ช. สกาวรัตน์ ครบุรีธีรโชติ เกิดเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 (7 ปี)บิดาเป็นทหาร ย้ายมาประจำการที่จังหวัดนครราชสีมา จึงพบมารดาซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ครัวในค่ายทหาร ทั้งคู่แต่งงานกัน มีลูกด้วยกัน 4 คน บิดาถูกเรียกตัวกลับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เขายังเด็กมาก โดยไม่มีรูปทิ้งไว้ เขาจึงจำหน้าไม่ได้ มารดาไม่ย้ายไปด้วยตามคำชวน เพราะห่วงยายของเขา และเกรงมีปัญหาการปรับตัวเพราะด้อยการศึกษา และเพราะบิดาต้องย้ายไปประจำการอีกหลายประเทศ จึงขาดการติดต่อทางจดหมายโดยไม่รู้ชะตากรรมในที่สุด

เขาจะเป็นเด็กเงียบๆ ชีวิตวัยเด็กลำบากมาก เพราะมารดายากจน มีลูก 4 คน อยู่บ้านเช่า ทำงานรับจ้างได้ค่าแรงรายวันไม่มาก พี่สาวและพี่ชาย ได้เรียนแค่ ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาทำงานหาเงิน มารดาจึงส่งเขาไปให้อยู่กับตายายที่ อ.ครบุรี เมื่อเขาอายุ 6 ปี เขาเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ แต่โชคดี มีคนรู้จักกันขอไปเลี้ยงดูเป็นบุตรที่จังหวัดกาญจนบุรี มารดาตัดสินใจยกให้เพื่ออนาคตของลูก

บิดาบุญธรรมเป็นทหาร มารดาบุญธรรมเป็นแม่บ้าน ซึ่งดูแลอย่างดี ชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนเกิดใหม่ มีห้องของตัวเองจากที่เคยนอนรวมกัน และได้เข้าโรงเรียน เขาเริ่มได้รับอิทธิพลเรื่องเพลงตั้งแต่ช่วงนั้น บิดามารดาบุญธรรมชอบฟังเพลงลูกกรุง ได้ฟังบ่อยๆ จึงซึมซับ

สมัยนั้นการเดินทางการสื่อสารไม่สะดวก จึงไม่ได้กลับไปเยี่ยมแม่ แม่เองก็ไม่ได้มาเพราะภาระการเงิน ซึ่งเขามักถามเสมอว่า ทำไมมารดาไม่มา อยากพบ

จนปี พ.ศ. 2523 อายุ 11-12 ปี ยังไม่ทันจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บิดามารดาบุญธรรมจึงอนุญาต โดยขอคนสืบให้ ใช้เวลาหลายเดือนจนรู้ว่า มารดาเช่าบ้านอยู่ ในซอยบริเวณสามแยกปักธงชัย

เขาเดินทางลำพังจากจังหวัดกาญจนบุรี จนพบและกอดกันร้องไห้ดีใจ และได้รู้จัก สามีใหม่ของแม่ ซึ่งเรียกว่า "ป๋า" เมื่อทุกคนขอร้องให้อยู่ และเริ่มปรับตัวได้ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน โดยไม่เรียนต่อ ผ่านมา 3 สัปดาห์ ก็ไปทำงานกับป๋า ที่อู่ซ่อมรถ เริ่มจากเด็กฝึกงาน จนเลื่อนเป็นช่างทำสีรถ เมื่ออายุ 13 ปี เท่านั้น

ต่อมา เขาต้องออกจากงานช่าง กลับไปอยู่กับตายาย ที่อำเภอครบุรี เพราะน้าเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ และช่วยเลี้ยงควาย 3 ตัว แทนน้า เขาปรับตัวใหม่อีกครั้ง บ้านยายเป็นชนบทที่กันดาร ไม่มีไฟฟ้า การเป็นลูกครึ่งในท้องที่นั้นเป็นเรื่องแปลก เพราะผิวขาวกว่าทุกคน จนปรับตัวได้ มีเพื่อนจำนวนมากที่ต้อนควายของตนไปเลี้ยงด้วยกัน

ช่วงนั้น วันหนึ่งพบวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องใหม่เอี่ยมแต่มีสนิมห่อผ้าซ่อนอยู่ในที่รกกลางทุ่งนา จึงคาดว่าถูกขโมยมาซ่อนไว้แต่ลืมทิ้ง จึงเก็บมาใช้ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ผูกพันกับเพลงลูกทุ่ง โดยใช้วิทยุเป็นเสมือนครูที่เปิดฟังและร้องตาม ปี พ.ศ. 2527 อยู่กับตายายได้ 4 ปี ก็กลับไปอยู่กับแม่อีก ทำงานเป็นช่างเช่นเดิม

แรกเริ่มในในวงการเพลง

ทุกวันอาทิตย์ ในตัวจังหวัด มีการประกวดร้องเพลงที่จัดโดย นที สุนันทา ดีเจชื่อดัง ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้เข้าประกวด รายการชุมทางคนเด่น ของ ประจวบ จำปาทองเขาไปดูทุกครั้งและอยากประกวดมากแต่ไม่กล้า

ต่อมา เขาสมัครทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในโรงแรม ซึ่งอยู่ใกล้กับเวทีประกวด โดยไปดูการประกวดทุกครั้งกับเพื่อนที่ชื่นชอบเหมือนกัน เขาร้องเพลงขณะทำงาน เหมือนการฝึก ซึ่งมักร้องเพลงของ สายัณห์ สัญญา หรือ ยอดรัก สลักใจ โดยใช้เพลงดังกล่าวไปประกวด และได้เข้ารอบในครั้งที่ 3 ผู้จัดให้ผู้เข้ารอบได้ร้องเพลงอัดเสียง เพื่อนำไปเปิดในรายการวิทยุให้คนทางบ้านช่วยตัดสิน

ช่วงที่รอ เซลส์แมนขายเครื่องเสียงตามบ้าน มาพักที่โรงแรม ซึ่งขณะทดสอบเครื่อง ให้เขาร้องเพลงลองเสียง และชื่นชอบ จึงชวนให้ไปอยู่ด้วย ช่วยขายของ ร้องเพลงเรียกลูกค้า รับเงินเดือนประจำ เขาสนุกกับชีวิตตะลอนทัวร์ประมาณ 2 ปี โดยไม่กลับบ้าน ส่งแต่เงินกลับ

จนเดินสายมาถึงจังหวัดระยอง เพื่อนของหัวหน้ากลุ่มเซลล์แมนเปิดร้านคาเฟ่ เขาเห็นคาเฟ่เป็นครั้งแรกและชอบมาก หัวหน้าฝากงานให้ แต่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟ ไม่ได้ขึ้นร้องสักคน จึงไปหางานที่พัทยา เพราะเพื่อนชวน หางานอยู่หลายที่ จนได้งานที่ร้านแห่งหนึ่ง แม้เงินเดือนไม่มาก แต่ได้ทิปหลักหมื่นต่อเดือนในสมัยนั้น จึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้นมา มีเงินส่งกลับจำนวนมาก

สู่แกรมมี่ ออกอัลบั้มแรก

ประมาณ 1 ปี ได้ย้ายมาประจำที่ร้านไอส์แลนด์ ว่าว อนุวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์ของ คีตา เรคคอร์ดส มาพบ ให้เข้ากรุงเทพฯ ทดสอบเสียง แต่ไม่ผ่าน จึงกลับไปทำงานที่เดิม

อีกประมาณ 3-4 เดือนต่อมา เต๋อ เรวัต ผู้ก่อตั้งร่วมและโปรดิวเซอร์ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (ขณะนั้นชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์) มาชวนออกอัลบั้ม โดยต้องเรียนเพิ่มเติม ทั้งการร้องเพลง ภาษา วิธีการทำงานในห้องอัด และอื่น ๆ รวมถึงปรับปรุงบุคลิกอย่างผู้มีการศึกษาระดับสูง ตามกระแสนิยม โดยแกรมมี่เช่าอพาร์ตเมนต์ให้อยู่ มีเงินเดือนให้ รุ่นเดียวกันที่เรียนร้องเพลงคือ ใหม่ เจริญปุระ

ปี พ.ศ. 2533 ช่วงการผลิต เซ็ตอัลบั้มชุด "แม่ไม้เพลงไทย" รวมศิลปินหลายคน ร้องเพลงเก่าที่ดังในอดีต และยังหาคนสุดท้ายไม่ได้ สำหรับแนวเพลงระดับครูของ สุรพล สมบัติเจริญ เต๋อ เรวัติ จึงเสนอชื่อเขา และได้เป็นอัลบั้มชุดแรกของเขา ชุดอัลบั้มนี้ขายดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงที่เขาร้อง

ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาเริ่มมีงานแสดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความนิยม และสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมาก

วิสัยทัศน์ที่แม่นยำของ เต๋อ เรวัต

ยุคนั้น แนวเพลงไทยสากล (สตริง) มีกระแสนิยมมากกว่าแนวเพลงลูกทุ่ง เขาจึงเสนอว่าเพราะอายุยังน้อย น่าลองทำผลงานเพลงสตริงก่อน เพื่อให้ตรงกับการตลาด เรื่องนี้ เต๋อ เรวัติ ยืนยันมาตั้งแต่แรกว่า เขาเหมาะกับเพลงลูกทุ่ง แต่ก็ไม่คัดค้าน โดยพูดว่า "นายจะประสบความสำเร็จกับการร้องเพลงลูกทุ่ง เพราะเราเห็น แต่ถ้าอยากจะลองทำสตริงดูก็ได้"

จึงเกิด อัลบั้มชุดที่ 2 "ก๊อต ช็อต" ที่เปลี่ยนแนวเป็นสตริง และ อัลบั้มชุดที่ 3 "ก๊อต เพราะใจไม่เหมือนเดิม" เป็นเพลงฟังสบาย แต่อาจเพราะฟังยาก ไม่ติดหู จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

ในปี พ.ศ. 2538 จึงกลับมาปรึกษากันใหม่ว่า อยากลองเปลี่ยนกลับมาเป็นแนวเพลงลูกทุ่ง เต๋อ เรวัติ ดีใจมาก เพราะคิดว่าเหมาะสมเข้าทาง เป็นช่วงเดียวกับที่ก่อตั้งแกรมมี่โกลด์ เป็นบริษัทในเครือ โดยแยกสายการผลิตเพลงลูกทุ่ง ออกจากแนวสากล โดย กริช ทอมมัส เป็นกรรมการผู้จัดการและหนึ่งในโปรดิวเซอร์

ทีมงานจึงผลิต เช็ตอัลบั้มชุด "ก๊อต หัวแก้วหัวแหวน" ชุดที่ 1-5 (ออกมาพร้อมกันถึง 5 ชุด ในเซ็ต) โดย กริช ทอมมัส เป็นโปรดิวเซอร์ประจำตัวของเขา นับแต่นั้นเรื่อยมา

แม้ว่า สร้างหลายอัลบั้มพร้อมกัน แต่ก็ขายได้ถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 2 ล้านตลับ (ยุคนั้นยังจำหน่ายแต่ เทปคาสเส็ต) จนถือเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สร้างชื่อและแจ้งเกิดในวงการลูกทุ่งของเขา (ความนิยมนั้นแม้ผ่านมา 20 ปี ก็ยังผลิตอัลบั้มรวมฮิตขายได้อยู่)

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง และการมีส่วนร่วมในผลงาน

เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งด้วย เพราะเริ่มผสมดนตรีแบบไทยสากลในเพลงลูกทุ่งเล็กน้อย โดยก่อนหน้านั้นลูกทุ่งมีแบบแผนรูปแบบเครื่องดนตรีชัดเจน ผู้นิยมเพลงสตริง รับได้เป็นปกติ ส่วนผู้นิยมเพลงลูกทุ่งเอง ช่วงแรกยังมีความเห็นขัดแย้ง แต่เมื่อเผยแพร่สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มเป็นที่นิยม และยอมรับในที่สุด และในภายหลัง แนวเพลงลูกทุ่งประยุกต์นี้ กลายเป็นกระแสความนิยมที่พบได้มาก ในผลงานของศิลปินรุ่นต่อมา ทั้งค่ายเพลงนี้และค่ายเพลงอื่น ในลักษณะที่ค่อย ๆ ผสมความเป็นไทยสากลมากขึ้นไปอีก

ในปี พ.ศ. 2538 ทีมงานผลิต เช็ตอัลบั้มชุด "ก๊อต หัวแก้วหัวแหวน" ชุดที่ 1-5 และในปี พ.ศ. 2539 ผลิตชุดที่ 6-9 ออกมาอีก ยอดขายรวมทั้ง 9 ชุด กว่า 10 ล้านตลับ

ความสำเร็จที่ท่วมท้นนี้ เต๋อ เรวัติ ได้เตือนเขาว่า "ขอให้มีสติดี ๆ เพราะความสำเร็จที่เข้ามาขนาดนี้ จะทำให้เราเขวได้" ซึ่งเขาจดจำยึดถือเรื่อยมา

เนื่องจากในช่วงแรกของอัลบั้ม แกรมมี่ยังไม่สันทัดการจัดการแสดงบนเวทีของเพลงลูกทุ่ง นอกจากการร้อง เขาจึงมีส่วนร่วมในการผลิตอัลบั้มอยู่มาก เช่น การเลือกเพลง การเลือกดนตรี การจัดหานักเต้นประกอบ การผลิตเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ ฯลฯ จนกลายเป็นแนวทางการทำงานในทุกอัลบั้มต่อมา (ในระยะหลัง ยังช่วยควบคุมด้านดนตรีด้วย)

กรณีเครื่องแต่งกายนักเต้นประกอบ ผู้จัดการประจำตัวที่เขาเรียกว่า "พี่มด" ซึ่งเคยเป็นดีไซเนอร์ของอัลคาซ่ามาก่อน ได้รับผิดชอบจึงจัดหาชุดจากอัลคาซ่ามาดัดแปลงให้นักเต้นประกอบใส่ และเน้นความอลังการในการแสดง ซึ่งได้รับความนิยม จนกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงบนเวที ที่ได้วงดนตรีลูกทุ่งนิยมจัดแสดง รวมถึง ทุกอัลบั้มต่อมาของเขาเอง เขาถือว่า การแสดงบนเวทีที่อลังการเป็นหัวใจหลักของอัลบั้ม เพราะแฟนคลับชื่นชอบ อีกทั้งพัฒนาการที่ เนื้อหาเพลงหลากหลายขึ้น จึงยิ่งเพิ่มความหลากหลายเครื่องแต่งกาย และเพิ่มรูปแบบการแสดงมากขึ้น เช่น ผสมรูปแบบการแสดงแบบโรงละครเวทีบรอดเวย์ของต่างประเทศ ฯลฯ

เขาเป็นคนที่ทำงานจริงจังมาก และชอบทำบุญ

ศิลปินต้นแบบของเขา ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย เพราะสนุกกับงานเสมอ และ ตู่ นันทิดา เพราะให้กำลังใจและสอนดีมาก เขาเองก็เป็นต้นแบบของศิลปินรุ่นน้องจำนวนมากเช่นกัน

ชีวิตหลังประสบความสำเร็จ

หลังประสบความสำเร็จ มีรายได้มากขึ้น ความเป็นอยู่ที่บ้านก็ดีขึ้น เขาดูแลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบ้านของแม่และน้อง ขณะช่วยเหลือพี่สาวกับพี่ชายตามโอกาส เพราะทั้งสองแต่งงานมีครอบครัวของตน

ใน พ.ศ. 2549 หลังจาก อัลบั้มชุดที่ 4 "ก๊อต จักรพรรณ์ 4 เจริญ เจริญ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ก๊อท จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติเพราะถูกทักว่า เกิดวันศุกร์ ไม่ถูกโฉลกกับ ร.เรือ หลายตัว ส่วนนามสกุล เปลี่ยนให้ความหมายดีขึ้นเป็น ครบุรีธีรโชติ แปลว่า เมืองแห่งความรุ่งเรืองของนักปราชญ์

มีช่วงหนึ่งดำเนินกิจการร้านอาหาร แต่เลิกกิจการไปเมื่อมีงานอัลบั้มต่อเนื่อง

ก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความคิดถึง" และก่อนผลิตอัลบั้ม "แทนความผูกพัน 20 ปี หัวแก้วหัวแหวน"เขาได้พักผ่อนยาว ใช้เวลากับครอบครัว และใช้โอกาสนี้ปลูกบ้านใหม่ ที่อยู่กับแม่และน้อง โดยดูแลการก่อสร้างทั้งหมดเอง

ผลงานต่อมา

นอกจากอัลบั้มที่นำเพลงเก่ามาร้องใหม่แล้ว อัลบั้มของตนเอง ที่ประกอบด้วยเพลงแต่งใหม่ ซึ่งนับเป็นชุดที่ 4 ก็ได้รับความนิยมเช่นกันในปี พ.ศ. 2546 ผลิตอัลบั้ม "ก๊อต จักรพรรณ์ 4 'เจริญ เจริญ" ที่กลับมาเป็นแนวลูกทุ่งแล้ว และผลิตแต่ผลงานแนวเพลงลูกทุ่งเรื่อยมา

ใกล้เคียง

จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพันธ์ พุทธา จักรพันธ์ วงศ์คณิต จักรพันธ์ ปั่นปี จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ จักรพันธ์ ห้วยเพชร จักรพันธ์ พรใส จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ จักรพันธุ์ ยมจินดา